วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วิกฤติการณ์ราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวไทยเป็นอย่างมาก

บทที่ 1
บทนำ

1.1 ความเป็นมาของการศึกษา
 วิกฤติการณ์ราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวไทยเป็นอย่างมาก          ทำให้ต้องมีการดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งในระดับส่วนบุคคล ระดับประเทศและระดับภูมิภาค   เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากน้ำมันได้ทวีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศตราบเท่าที่กิจกรรมของมนุษย์ยังต้องมีกิจกรรมการขนส่งด้วยยานพาหนะที่ต้องขับเคลื่อนด้วยพลังงานน้ำมัน ด้วยเหตุนี้การดำเนินชีวิตของมนุษย์จึงมีความผูกพันกับเสถียรภาพของราคาน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และจากการที่รัฐบาลปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามภาวะความเป็นจริงโดยประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว  ส่งผลกระทบทันทีทั้งในด้านจิตวิทยาและต้นทุน    การผลิตสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในประเภทขนส่งและบริการรวมไปถึงภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งแรงกดดันจากต้นทุนราคาน้ำมันจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง    ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบการดำเนินชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ (การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้น, กระทรวงพาณิชย์, 2550: 2-12)
ผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้วัสดุก่อสร้างที่สำคัญ คือ เหล็กสำเร็จรูปต่างๆ ขาดแคลนและราคาสูงขึ้นมากส่งผลกระทบต่อธุรกิจก่อสร้างโดยตรงและรุนแรง ผู้รับเหมาต่างได้รับความเดือดร้อน  บางรายหยุดดำเนินการ บางรายละทิ้งงาน เพราะไม่สามารถรับภาระการขาดทุนได้ ซึ่งการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนภายหลังการทำสัญญารับจ้างหรือในระหว่างก่อสร้าง ในการตกลงราคาค่าก่อสร้างนั้นหลายโครงการเป็นการตกลงกันแบบเหมารวม มิได้มีการแยกหน่วยหรือแสดงรายละเอียดเหมือนเช่นงานก่อสร้างหน่วยงานราชการ หรืองานประมูลก่อสร้างซึ่งจะมีการกำหนดค่า Escalation Factors (K) เอาไว้ในกรณีหากต้นทุนค่าวัสดุเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นสามารถขอเบิกค่าชดเชยได้ แต่ลักษณะของบริษัทรับสร้างบ้านไม่สามารถทำได้จึงต้องแบกรับความเสี่ยงเอาเอง และจะไม่สามารถขอเพิ่มราคาค่าก่อสร้างจากลูกค้าได้แม้ว่าสภาพความเป็นจริงจะมีต้นทุนสูงขึ้นจาก ณ วันที่ตกลงกัน ซึ่งในสภาวะการจริงแล้วโครงการในแต่ละโครงการมีระยะเวลานานหลายปีซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าราคาวัสดุก่อสร้างอาจจะสูงขึ้นมากเท่าใดจากวันเริ่มทำสัญญา (การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้น, กระทรวงพาณิชย์, 2550: 2-12)



ขณะเดียวกันในภาวะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แต่ทางฝ่ายผู้ประกอบการหรือตลาดรับสร้างบ้านกลับมีการแข่งขันกันสูงมากโดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาในกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก          และรายย่อยจึงเป็นเรื่องที่สวนทางกันโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นยอดขายที่ผู้ประกอบการได้มาจากการใช้กลยุทธ์ ลด แลก แจก แถมโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ขาดประสบการณ์และประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าผิดพลาด  ขณะที่ด้านผู้บริโภคเองเมื่อผู้ประกอบการมีการเสนอราคาต่ำและเงื่อนไข          ที่รู้สึกพอใจ ณ เวลานี้ แต่อาจจะไม่ใช่บทสรุปในความสำเร็จของทั้ง 2 ฝ่ายก็เป็นได้ในอนาคต เพราะว่าเมื่อถึงเวลาเริ่มลงมือทำการก่อสร้าง สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือกลายเป็นปัญหา    ตามมาภายหลัง ซึ่งก็มีปรากฏให้เห็นกันมาตลอดและผู้บริโภคก็เป็นผู้เคราะห์ร้ายเรื่อยมา                       เมื่อผู้ประกอบการไปไม่รอดจากปัญหาต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ควรให้ความสำคัญและระมัดระวัง ซึ่งกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ  
                1. กลุ่มผู้ประกอบการที่ขาดประสบการณ์  ซึ่งหากประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าผิดพลาด   โดยตั้งราคาขายมิได้เผื่อปัจจัยที่จะมีผลกระทบกับต้นทุนในอนาคตอาจทำให้เกิดปัญหาขาดทุนและจะส่งผลกระทบกับสภาพคล่อง โดยเฉพาะช่วงงวดงานท้ายๆ ของการก่อสร้างหากไม่มีเงินทุนมากพอก็จะไม่สามารถบริหารงานต่อไปได้จนถึงขั้นหยุดงานหรือทิ้งงานและปิดกิจการไป  
                2. กลุ่มซัพพลายเออร์ย่อมจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องหากขาดความระมัดระวังในการให้สินเชื่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายใหม่ๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ดีพอและไม่ตรวจสอบอย่างรอบคอบที่จะขายสินค้าโดยไม่มีการป้องกันความเสี่ยงเพียงแค่หวังยอดขายสินค้าจำนวนมากเท่านั้น เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ
                3. กลุ่มผู้บริโภคที่ขาดความระมัดระวังและตกเป็นเหยื่อเพราะหลงเชื่อผู้ประกอบการ        ที่ไม่สุจริตหรือหลอกลวงด้วยการเสนอเงื่อนไขราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง หรือหลงเชื่อในคำพูดโดยมิได้สัมผัสกับประสบการณ์และผลงานการสร้างบ้านจริงของผู้ประกอบการ
                จากสภาพปัญหาและข้อมูลต่างๆ  ข้างต้นที่กล่าวมาทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงราคาวัสดุในงานก่อสร้างซึ่งทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาด้านต้นทุนค่าวัสดุ  และจากการที่ผู้ศึกษาได้สังเกตติดตามข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันซึ่งพบว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ผู้ศึกษาจึงมีแนวคิดที่จะศึกษาราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นว่ามีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่อย่างไร และถ้าราคาวัสดุก่อสร้างมีการปรับตัวสูงขึ้นแล้วค่าชดเชยที่ได้จากการทำสัญญาแบบปรับราคาจะเพียงพอกับการขึ้นราคาของ             วัสดุก่อสร้างจริงหรือไม่  ตลอดจนถ้าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับตัวลดลงจะทำให้ราคา        วัสดุก่อสร้างในงานก่อสร้างปรับตัวลดลงตามในลักษณะใด โดยมุ่งศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกับดัชนีที่เกี่ยวข้องในงานก่อสร้าง  ซึ่งผลการศึกษานี้อาจเป็นประโยชน์ในการคาดการณ์แนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างและต้นทุนที่สูงขึ้นในอนาคต  เพราะด้วยลักษณะการดำเนินงานของธุรกิจก่อสร้างแล้วการบริหารความเสี่ยงในอนาคตเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระ

1.2 วัตถุประสงค์ของการศึกษา
1.เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกับดัชนีราคาที่ใช้เป็นตัวแปรประกอบการคำนวณค่า K สำหรับสัญญาแบบปรับราคา

1.3  ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้า
                1.  การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างใช้ข้อมูลของปีงบประมาณ พ.ศ.2551 คือ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2551
                2. การศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาทำการศึกษาข้อมูลราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในเขต กทม.และปริมณฑล และข้อมูลดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างจากกระทรวงพาณิชย์     
3.  น้ำมันเชื้อเพลิง หมายความว่า น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 10 ออกเทน 91 น้ำมันแก๊สโซฮอล์   อี 10 ออกเทน 95 น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 20 ออกเทน 95 น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 น้ำมันเบนซินพื้นฐานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 และน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ซึ่งมีลักษณะและคุณภาพตามที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด (คำสั่งนายกรัฐมนตรี 2/2551 กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง)

1.4 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกับดัชนีราคาในงานก่อสร้าง
                2. ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาสามารถนำมาวิเคราะห์แนวโน้มของราคาวัสดุและค่างานก่อสร้างที่มีผลจากการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

ความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกับดัชนีราคาวัสดุในงานก่อสร้าง


บทคัดย่อ

ภาคนิพนธ์เรื่อง การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกับดัชนีราคาวัสดุในงานก่อสร้าง  เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกับดัชนีราคาวัสดุในงานก่อสร้างและค่าชดเชยสำหรับสัญญาแบบปรับราคาได้ โดยศึกษาข้อมูลของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นราคาในเขต กทม.และปริมณฑล ในส่วนของข้อมูลดัชนีราคาในงานก่อสร้างเป็นของกระทรวงพาณิชย์               
ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกับดัชนีราคาวัสดุในงานก่อสร้างเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากงานทะเบียนซึ่งมีการบันทึกข้อมูลไว้แล้วจากหน่วยงานราชการ จากนั้นทำการวิเคราะห์หาเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง                กับดัชนีราคาที่ใช้ในงานก่อสร้างในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 และราคาที่มีการเปลี่ยนแปลงเปรียบเทียบกับเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นเดือนเริ่มต้นของปีงบประมาณ เพื่อนำมาศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกับราคาของวัสดุก่อสร้างและค่าชดเชยสำหรับสัญญาแบบปรับราคาได้
จากผลการศึกษาพบว่าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้น       และลดลงตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้
เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการเปลี่ยนแปลง 10% ทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 12% ค่าชดเชยที่ได้รับ 3% ซึ่งต่ำกว่าราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นจริง 9%   
                 เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 20% ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 20% แต่ได้รับค่าชดเชย 5%    ซึ่งต่ำกว่าราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นจริง 15%
                เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 30% ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 25% แต่ได้รับค่าชดเชย 5%     ซึ่งต่ำกว่าราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นจริง 15%
                เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 40% ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 25% แต่ได้รับค่าชดเชย 5%     ซึ่งต่ำกว่าราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นจริง 15%
                จากผลการศึกษายังพบว่าดัชนีราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กมีแนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นและลดลงตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมากที่สุด  ดังนี้
เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 10% ทำให้ดัชนีราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้น 26%
                เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 20% ทำให้ดัชนีราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้น 31%
               
เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 30% ทำให้ดัชนีราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้น 62%
เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 40% ทำให้ดัชนีราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้น 68%             เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงเหลือ 30% ทำให้ดัชนีราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กลดลงเหลือ 66%
                เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงเหลือ 20% ทำให้ดัชนีราคาราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กลดลงเหลือ 62%
เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงเหลือ 10% ทำให้ดัชนีราคาราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กลดลงเหลือ 60%

ต่อ บทที่ 1 ครับ